คนที่เก่งคณิตศาสตร์มีแนวโน้มที่จะมีความคิดสร้างสรรค์สูงไปด้วย?

Pat Vatiwutipong

กราฟที่เห็นอยู่ในรูปนี้คือการเอาผลคะแนนสอบ PISA วิชา 'ความคิดสร้างสรรค์' และ 'คณิตศาสตร์' มา plot คู่กัน ซึ่งจะเห็นว่าสองเรื่องนี้มีความสัมพันธ์กันในทางบวก นั่นคือประเทศที่ผลสอบวิชาคณิตศาสตร์ดีมีแนวโน้มที่จะมีผลสอบวิชาความคิดสร้างสรรค์ที่ดีตามไปด้วย

สิ่งนี้ฟังดูขัดกับความรับรู้แบบไทย ๆ ของเรานิดหน่อย เพราะความคิดสร้างสรรค์ดูจะเป็นอะไรที่ศิลป์ ๆ เป็นเรื่องจินตนาการ ไอเดีย เปิดกว้าง และไม่ติดกรอบ ในขณะที่คณิตศาสตร์ดูจะเป็นเรื่องของหลักการ เหตุผล ตรรกะ เป็นวิชาของคนหัวสี่เหลี่ยม ดังนั้นคนเก่งคณิตศาสตร์ในภาพของเราจึงเป็นคนละคนกับคนที่มีความคิดสร้างสรรค์

สารภาพว่าผมเองก็เพิ่งทราบตอนเขาปล่อยรายงานฉบับนี้ออกมาว่า PISA นี่มีสอบวิชาความคิดสร้างสรรค์ด้วย ก็เลยไปนั่งดูว่าเขาสอบอะไรกัน ข้อสอบมีสี่ข้อ เป็นข้อสอบการแสดงแนวคิดด้วยการเขียนบรรยาย ข้อสอบการแสดงแนวคิดด้วยภาพ ข้อสอบการแก้ปัญหาด้านสังคม และข้อสอบการแก้ปัญหาด้านวิทยาศาสตร์ ดูตัวอย่างข้อสอบในเว็บของ PISA Thailand ก็มีให้สร้างเรื่องราวจากภาพ ออกแบบโลโก้เทศกาลอาหาร คิดแอพพลิเคชันช่วยประหยัดน้ำ แล้วก็ออกแบบจักรยานแห่งอนาคต

แต่สิ่งที่น่าสนใจกว่าคำถาม คือเขาให้คะแนนกันยังไง เท่าที่อ่านดูเกณฑ์สรุปคร่าว ๆ ได้ว่าเขาโฟกัสว่า ตอบตรงโจทย์ไหม อธิบายความคิดของตัวเองได้ไหม และไอเดียที่เสนอมานั้นซ้ำ ๆ กับไอเดียที่มีอยู่แล้วในสังคมหรือเปล่า อย่างข้อออกแบบโลโก้ก็ไม่ได้วัดจากความสวยงามของคำตอบ แต่ดูว่าผู้สอบสามารถอธิบายความหมายของโลโก้ที่สร้างขึ้น และเชื่อมโยงมันเข้ากับโจทย์ได้หรือไม่ อะไรประมาณนี้มากกว่า

ตามความหมายของ PISA ความคิดสร้างสรรค์หมายถึง ความสามารถในการประเมินไอเดีย และพัฒนาต่อยอดเพื่อการแก้ไขปัญหาเชิงสังคมและวิทยาศาสตร์อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้นชัดเจนว่ามันไม่ใช่เรื่องของศิลปะจ๋า ๆ ตามอย่างในภาพในหัวของคนไทย แต่ขอบเขตความคิดสร้างสรรค์ของ PISA นั้นมันไปว่าด้วยทักษะการเสนอไอเดียเพื่อแก้ปัญหาอะไรพวกนั้นมากกว่า

ดังนั้นจึงน่าจะไม่แปลกที่ผลคะแนนสอบวิชาความคิดสร้างสรรค์ของ PISA นั้นมีแนวโน้มจะไปทางเดียวกับคะแนนสอบคณิตศาสตร์ เพราะถ้าใครที่เคยเห็น หรืออ่านข้อเขียนของผมเรื่องคณิตศาสตร์แบบ PISA แล้วก็จะรู้ว่า มันคือเรื่องเดียวกันเลย มันคือทักษะการแก้ปัญหา เพียงแต่ในข้อสอบคณิตมันมุ่งไปที่ทักษะการแก้ปัญหาอย่างถูกต้องด้วยคณิตศาสตร์ และไม่หัวสี่เหลี่ยมอย่างที่คิด

หลายคนจะตั้งคำถามกับผลคะแนนสอบ PISA ในประเด็นเรื่องการสุ่มตัวอย่าง เด็กที่มาสอบนั้นตั้งใจสอบแค่ไหน ทำส่ง ๆ ไปจนคะแนนออกมาแย่รึเปล่า ซึ่งก็อาจจะเป็นอย่างนั้น แต่สิ่งที่เราปฏิเสธไม่ได้เช่นกันก็คือ วิธีการสอนคณิตศาสตร์ของเรา มันไม่ทำให้นักเรียนสามารถทำคะแนนข้อสอบแบบ PISA ได้ดีจริง ๆ ไม่ว่าจะเป็นวิชาคณิตศาสตร์หรือวิชาความคิดสร้างสรรค์

ผมเพิ่งได้อ่านข้อเขียนของอาจารย์นำชัย ชีววิวรรธน์ เรื่อง 'ความผิดพลาดใหญ่ในการสอนวิทยาศาสตร์ในไทย' ที่มุ่งไปที่เนื้อหาวิทยาศาสตร์ มากกว่ากระบวนการคิดทางวิทยาศาสตร์ แน่นอนว่าผมเห็นด้วยกับข้อเขียนของอาจารย์ทุกประการ และหากต้องมีอะไรเสริม ก็คงมีเล็ก ๆ แค่ว่า ไม่ใช่แค่วิทยาศาสตร์ แต่ปัญหานี้ก็เกิดกับวิชาคณิตศาสตร์ด้วย ยกเว้นจุดเดียวที่ต่างก็คือ วิชาวิทยาศาสตร์ยังพอจะมีข้ออ้างเรื่องงบประมาณค่าเครื่องไม้เครื่องมือสำหรับทำการทดลอง แต่วิชาคณิตศาสตร์ไม่มีข้ออ้างนี้ เพราะเราสามารถฝึกกระบวนการคิดแบบคณิตศาสตร์แทบทั้งหมดได้ด้วยปากกากับกระดาษเท่านั้น

วันก่อนเพิ่งเห็นท่านรัฐมนตรี อว. เปิดงาน “การอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาศักยภาพการจัดการเรียนรู้ในการส่งเสริมสมรรถนะและความฉลาดรู้ของผู้เรียนตามแนวการประเมินระดับนานาชาติ (PISA)” ไป ก็ได้แต่คิดว่ามันจะช่วยอะไรได้บ้างน้อ เพราะในความเห็นของผม กำแพงสูงตระหง่านที่กั้นระบบการศึกษาไทยกับการเรียนวิชาอะไรก็ตามในระดับวิธีคิดนั้นคือการสอบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสอบเข้ามหาวิทยาลัย ตราบใดที่ข้อสอบเข้ามหาวิทยาลัยยังเรียกร้องเนื้อหา ข้อมูล ยังอยากวัดว่านักเรียนใช้สูตรต่าง ๆ ที่มีได้อย่างรวดเร็วมั้ย จำสูตรได้เยอะแค่ไหน ก็จะไม่ใครสอนอย่างอื่น ครูที่สอนอย่างอื่นก็จะกลายเป็นครูที่สอนเรื่องไร้สาระ ไม่มีประโยชน์ในมุมมองของนักเรียน เพราะเรียนไปแล้วเอาไปใช้ทำข้อสอบไม่ได้

สุดท้ายแล้วฮะ ใกล้จบแล้ว ตอนหาข้อมูลเพื่อเขียนโพสท์นี้ผมดันไปเจอคู่มืออันนึงชื่อว่า PISA Mathematics: A Teacher’s Guide เขียนโดย Department of Education and Science ประเทศไอร์แลนด์ ซึ่งก็คะแนนตกลงไม่ต่างจากเรา รายงานฉบับนี้นอกจากจะอธิบายเรื่องทั่วไป พวกข้อสอบ PISA วัดอะไร ถามแบบไหน เขายังเอาหลักสูตรของเขามาวางเทียบว่าสิ่งที่พวกเขาสอนอยู่นั้นมันตรงกับสิ่งที่ข้อสอบถามแค่ไหน วิเคราะห์ครูของประเทศตัวเอง ว่าสอนได้ตามเป้าหมายแค่ไหน และสุดท้ายปัญหามันอยู่ตรงไหนกันแน่

ยกเว้นเราจะคิดว่า PISA ไม่ใช่พ่อไม่ใช่แม่ เราไม่เห็นจำเป็นต้องตามก้นฝรั่ง จะไปปรับตัวเราให้ตรงกับข้อสอบมันทำไม ก็ได้ ความจริงการคิดแบบนี้ก็ไม่ผิด ตราบใดที่เรามั่นใจจริง ๆ ว่าสิ่งที่เราสอน เกณฑ์ที่เราใช้ประเมิน และข้อสอบที่เราใช้วัดคนเข้าเรียนต่อมันสามารถสร้างคนที่สามารถปรับตัวและอยู่รอดในโลกที่มีความซับซ้อนมากขึ้นอย่างในปัจจุบันได้ ในแบบที่ PISA เองก็ยังไม่เข้าใจ นั่นก็จะเป็นอีกเรื่องหนึ่ง


รวม link ที่อ้างถึง

PISA 2022 Creative Thinking https://www.oecd.org/pisa/innovation/creative-thinking/

New PISA results on Creative Thinking: can students think outside the box? https://www.hm.ee/sites/default/files/documents/2024-06/PISA%20in%20Focus%20%23125%20-%20Creative%20Thinking.pdf

ตัวอย่างข้อสอบความคิดสร้างสรรค์ PISA 2022 https://pisathailand.ipst.ac.th/infographics-pisa2022-creative-thinking-part2-2/

PISA 2022 Creative Thinking Framework (draft) https://www.oecd.org/pisa/publications/PISA-2021-creative-thinking-framework.pdf

เด็กไทยเรียนคณิตศาสตร์เยอะมาก แต่ใช้คณิตศาสตร์จริง ๆ ไม่ได้ https://unfoldthedice.co/article/thai-kids-and-math

อย่าแปลกใจ ทำไม ? เด็กไทย…ไม่สร้างสรรค์ https://theactive.net/read/thai-childrens-creativity/

“ศุภมาส” เปิดการอบรมเชิงปฏิบัติการ PISA รวมพลังครูโรงเรียนสาธิตทั่วประเทศ เร่งพัฒนาตัวชี้วัดระบบการศึกษาไทย เตรียมความพร้อมเยาวชน เสริมฐานแรงงานในอนาคต https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/84786

ความผิดพลาดใหญ่ในการสอนวิทยาศาสตร์ในไทย https://www.facebook.com/photo/?fbid=7632401926795818&set=a.7588607014508643

PISA Mathematics: A Teacher's Guide https://www.researchgate.net/publication/265011126_PISA_Mathematics_A_Teacher's_Guide